อาหารไทยภาคกลาง
ภาคกลางเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีพืชผักผลไม้นานาชนิด อาหารของภาคกลางมีที่มาทั้งจากอิทธิพลจากต่างประเทศ เช่น เครื่องแกง แกงกะทิ จากชาวฮินดู การผัดโดยใช้กระทะและน้ำมันจากประเทศจีน เป็นอาหารมีการประดิษฐ์ผู้อยู่ในรั้วในวังได้คิดสร้างสรรค์อาหารให้มีความวิจิตรบรรจง อาหารภาคกลางมักจะมีเครื่องเคียงของแนม เช่น น้ำพริกลงเรือ แนมด้วยหมูหวาน แกงกะทิแนมด้วยปลาเค็ม กุ้งนึ่งหรือปลาดุกย่าง กินกับสะเดาน้ำปลาหวาน
รสชาติของอาหารไม่เน้นรสใดรสหนึ่งโดยเฉพาะ จะมีรส เค็ม เผ็ด เปรี้ยว หวาน เคล้ากันไปตามชนิดของอาหาร นิยมใช้เครื่องเทศแต่งกลิ่นรส และใช้กะทิเป็นส่วนประกอบของอาหาร
ยังมี "อาหารชาววัง" ที่มีต้นกำเนิดจากอาหารในราชสำนัก ที่เน้นตกแต่งประณีตและปรุงให้ได้ครบรส ได้แก่ เปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด นิยมประดิษฐ์อาหารให้สวยงามเลียนแบบรูปทรงต่างๆ ในธรรมชาติ
1) เมี่ยงคำ เป็นอาหารว่างที่นิยมรับประทานช่วงฤดูฝน เนื่องจากเป็นช่วงชะพลู ออกใบและยอดอ่อนมากที่สุดและรสชาติดี แด่จริงๆแล้ว เมี่ยงคำสามารถรับประทานเป็นอาหารว่างได้ตลอดปี และถือเป็นอาหารเพื่อสุขภาพจานหนึ่งเนื่องจากในเมี่ยงคำมีส่วนประกอบที่สามารถ ปรับสมดุลของธาตุในร่างกายได้ เช่น ชะพลู มะนาว บำรุงธาตุน้ำ พริก หอมแดง บำรุงธาตุลม ขิงและเปลือกมะนาวบำรุงธาตุไฟ มะพร้าว ถั่วลิสง น้ำตาล กุ้งแห้ง บำรุงธาตุดิน ทั้งนี้ในการ รับประทานเมี่ยงคำ ผู้รับประทานสามารถปรุงตามสัดส่วนที่สอดคล้องกับธาตุเจ้าเรือนของตนได้ หรือปรุงสัดส่วนตามอาการที่ไม่สบายได้อย่างเหมาะสม
2) แกงเลียง เป็นอาหารยอดนิยมของชาวภาคกลาง ประกอบด้วยพืชผัก หลากหลายส่วนมากมักนำพืชผักที่มีรสเย็นจืดมาเป็นส่วนผสมในแกงเลียง เช่น บวบ ฟักทอง ตำลึง ข้าวโพดอ่อน น้ำเต้า และนิยมปรุงรับประทานขณะร้อนๆ มีสรรพคุณแก้ไข้หวัดได้ดี เนื่องจาก ในแกงเลียงประกอบด้วยพืชผักพื้นบ้านที่เป็นสมุนไพรหลายชนิด ได้แก่ พริกขี้หนู หอมแดง
พริกไทย ใบแมงลัก และผักต่างๆ ที่มีรสเย็นดังกล่าวข้างต้น นอกจากนี้ คนโบราณเชื่อว่าแกงเลียง เป็นอาหารที่ช่วยประสะน้ำนม (บำรุงน้ำนม) สำหรับสตรีหลังคลอด ทำให้น้ำนมบริบูรณ์
3) ยำถั่วพู เป็นอาหารที่มีส่วนประกอบหลักคือ ถั่วพู ซึ่งเป็นผักที่มีรสมัน บำรุงเส้นเอ็น มีแร่ธาตุและวิตามินที่สำคัญในปริมาณสูง ได้แก่ ธาตุแคลเซียม เหล็ก และวิตามินซี
ในยำถั่วพู นอกจากมีถั่วพูที่ให้คุณค่าทางโภชนาการและสรรพคุณทางยาแล้ว ยังประกอบด้วย มะพร้าว ช่วยบำรุงกำลัง เส้นเอ็น ถั่วลิสง บำรุงธาตุดิน หอมแดง พริกขี้หนู กระเทียม บำรุงธาตุ ลม มะนาว บำรุงธาตุน้ำ เป็นต้น
4) สะเดา น้ำปลาหวาน ปลาดุกย่าง สะเดาเป็นผักพื้นบ้านที่มีรสขม คนไทย มักนำช่อดอกของสะเดามารับประทานในช่วงฤดูหนาว และคนไทยภาคกลางนิยมรับประทานกับ น้ำปลาหวานและปลาดุกย่าง เนื่องจากรสหวานของน้ำปลาหวานจะช่วยกลบรสขมของสะเดาได้ การรับประทานสะเดานิยมนำมาลวกน้ำร้อนก่อน สรรพคุณของสะเดาช่วยในการดับความร้อน และเจริญอาหาร ใช้บรรเทาอาการไข้ที่เกิดจากอากาศเปลี่ยนแปลงได้ หรือที่คนโบราณเรียกว่า ไข้หัวลม ส่วนน้ำปลาหวานและปลาดุกย่างบำรุงธาตุดิน รสเผ็ดจากพริกบำรุงธาตุลม
5) แกงเขียวหวานลูกชิ้นปลากราย แกงเขียวหวานเป็นเอกลักษณ์ของอาหารภาคกลางที่ปรุงแต่งด้วยกะทิที่เข้มข้นจริงๆ แกงเขียวหวานมีหลายชนิด ขึ้นกับชนิดของเนื้อสัตว์ ที่ใช้ เช่น แกงเขียวหวานไก่ แกงเขียวหวานหมู แกงเขียวหวานลูกชิ้นปลากราย โดยเฉพาะ แกงเขียวหวานลูกชิ้นปลากรายจะเป็นที่นิยมที่สุด และถือเป็นตำรับอาหารที่เหมาะสำหรับ รับประทานเพื่อบำรุงธาตุดิน สำหรับผักพื้นบ้านที่เป็นส่วนประกอบหลักในแกงเขียวหวานนี้ คือ มะเขือพวง มะเขือเปราะ และพริกชี้ฟ้าแดง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น